ขายของออนไลน์เสียภาษียังไง ไม่ให้โดนย้อนหลัง !
พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ที่มีรายได้จากการขายของผ่านอินเทอร์เน็ต รู้หรือไม่ว่าคุณเองก็ต้องเสียภาษีกับเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายคนที่ไม่เคยรู้และไม่เคยศึกษาเรื่องการเสียภาษีมาก่อนอาจจะโดนทวง ภาษีย้อนหลัง จนจ่ายกันแทบไม่ไหว ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องการเสียภาษีจากการขายของออนไลน์และไม่ต้อง โดนเรียกเก็บย้อนหลัง วันนี้กระปุกดอทคอมมีบทความดี ๆ จากเว็บไซต์ aommoney.com มาฝากให้ได้ศึกษากันจ้า
สำหรับที่มาของบทความ “ภาษีขายของออนไลน์“ ในตอนนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ @TAXBugnoms ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยในรายการ Money Makeover FM102 ดำเนินรายการโดย คุณรัชชพล เหล่าวานิช และคุณศลิลนา ภู่เอี่ยม ในหัวข้อเรื่อง ภาษีสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์ ซึ่งหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งหลายมักจะสงสัย และเข้าใจผิดเรื่องการเสียภาษีกับการขายของออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมากครับ วันนี้เลยถือโอกาสชี้แจงให้ฟังกันแบบหมดเปลือกในบทความเดียวกันไปเลย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า.. เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้นมาระหว่างคนขายกับคนซื้อ ไม่ว่าจะรับเป็นเงินสด เช็ค แคชเชียร์เช็ค เช็คของขวัญ อะไรทั้งหลายแหล่ รู้แน่ ๆ ว่าสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันใจแล้วละก็ เรานับว่าเป็น “เงิน” ทั้งหมดครับ และเมื่อขายของออนไลน์เพื่อเงินนี่แหละ จึงทำให้เรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
เพราะฉะนั้น “การเปิดร้านค้าออนไลน์” ไม่ใช่เปิดขึ้นมาแล้วไม่ต้องเสียภาษี เพราะถ้ามีรายได้ขึ้นมาเราก็ต้องเสียภาษีเหมือนการขายของตามปกติ โดยมีภาษี 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการขายของแบบเรา ๆ นั่นคือ “ภาษีเงินได้” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
1. ภาษีเงินได้ ถ้า หากเป็นร้านค้าที่เปิดโดยคนธรรมดาบ้าน ๆ อย่างเรา ๆ ก็ถือว่าต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยภาษีเงินได้นั้นจะมาจากการคำนวณ “เงินได้สุทธิ” แต่ถ้าหากจดทะเบียนเป็น “นิติบุคคล” อย่างห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท อันนี้ก็ต้องเสียเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณจาก “กำไรสุทธิ” แทน
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียก็ต่อเมื่อเรามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เมื่อไรที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ว่านี้เรามีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่า เพิ่มและเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าทันที เช่น สินค้าราคา 100 บาท ต้องบวก “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เข้าไปอีก 7 บาท ซึ่งลูกค้ามีหน้าที่ต้องจ่าย 107 บาทนั่นเอง
แต่ทว่า.. บทความนี้ขออนุญาตเจาะลึกในเรื่อง ภาษีขายของออนไลน์ สำหรับบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านค้าออนไลน์เท่านั้นนะครับ เพราะถ้าพูดเรื่องของนิติบุคคลไปด้วยเดี๋ยวจะยุ่งกันไปใหญ่ และสำหรับบุคคลธรรมดา เราจะพิจารณาภาษีด้วยวิธีนี้ครับ
1. กรณีที่รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี เราจะเสียภาษีแค่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. กรณีที่รายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เราจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีขายของออนไลน์ แบ่งออกเป็น 2 วิธีได้ดังนี้ครับ
1. เงินได้จากการขายของออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ประเภทอื่น ๆ)
2. สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธีคือ แบบเหมาในอัตรา 80% ของรายได้ และแบบตามความจำเป็นและสมควร
สำหรับวิธีการเลือกหักค่าใช้จ่ายแต่และแบบนั้น เราควรจะเลือกแบบไหนกันดี ขอแนะนำให้พิจารณาแบบนี้ครับ
ถ้าเป็นการขายของออนไลน์ทั่วไป เช่น เสื้อผ้า ของใช้ เครื่องสำอาง ฯลฯ ประเภทสิ่งของจับต้องได้ต่าง ๆ ขอแนะนำให้หักค่าใช้จ่าย “แบบเหมา” ไปเลยดีกว่า แต่ถ้าหากอยากหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควรเพราะประหยัดภาษี ก็ขอแนะนำว่าให้มั่นใจว่าเอกสารหลักฐานที่เรามีนั้นครบถ้วนถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะมีปัญหากับพี่สรรพากรได้ แล้วจะกลายเป็นเสียภาษีมากกว่าเดิมไปซะงั้น
3. ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่าย ให้นำมาหัก “ค่าลดหย่อน” ตามกฎหมายเพื่อคำนวณเงินได้สุทธิกันต่อเลยครับ
หลังจากนั้นคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามลำดับขั้นบันได เพื่อหาภาษีที่เราต้องจ่าย แต่ขอเตือนไว้ก่อนครับว่า ถ้าหากเรามีรายได้จากการขายของออนไลน์เกิน 1,000,000 บาทต่อปี !!! เราต้องคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินโดยนำ 0.5% มาคูณเงินได้ของเราด้วยครับ และหลังจากนั้นให้นำมาเปรียบเทียบภาษีที่คำนวณได้ทั้งสองวิธี และเลือกว่าภาษีที่คำนวณตามวิธีไหนได้มากกว่าให้ใช้วิธีนั้นในการเสียภาษี ครับ !! (โหดจังเลย)
ทีนี้เรามาดูตัวอย่างสำหรับ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับคนขายของออนไลน์กันดีกว่าครับ สมมุติว่า… นายหมอนัทแห่งคลินิกกองทุนเปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์สำหรับท่านชายโดยเฉพาะ (เอ๊ะ !! ยังไง) โดยมีรายได้ตลอดทั้งปี 5,000,000 บาท และตัวหมอนัทเองนั้นยังโสดสนิทศิษย์ส่ายหน้าอยู่
ดังนั้น วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิตามวิธีที่ 1 ของหมอนัทคือ = (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
1) รายได้ของหมอนัท 5,000,000 บาท
2) ค่าใช้จ่ายของหมอนัท 80% x 5,000,000 บาท = 4,000,000 บาท
3) ค่าลดหย่อนส่วนตัวของหมอนัท 30,000 บาท
4) เงินได้สุทธิ จาก 1-2-3 = 970,000 บาท
5) ภาษีที่คำนวณได้ (ตามอัตราภาษีก้าวหน้า) คือ 109,000 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน x 0.5% = 5,000,000 x 0.5% = 25,000 บาท
สรุปว่า… นายหมอนัทจะต้องเสียภาษีจำนวน 109,000 บาท